ศาลาไทย ณ เมืองบาด ฮอมบวร์ก หมุดสำคัญของความสัมพันธ์ไทย-เยอรมนี 160 ปี
![]() |
ศาลาไทย ณ เมืองบาด ฮอมบวร์ก ได้สร้างขึ้น (ก่อสร้าง (ใกล้กับบ่อน้ำเคอนิกจุฬาลงกรณ์) แล้วเสร็จในช่วงกลางปี พ.ศ. 2457 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6) ตามความประสงค์ของชาวเมืองบาด ฮอมบวร์ก ที่ได้ร่วมกันถวายบ่อน้ำแร่เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานของการเสด็จประพาสเยอรมนีของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือรัชกาลที่ ๕ ของราชวงศ์จักรี เมื่อปี 2450
![]() |
หลังจากที่พระราชบิดาของพระองค์ท่าน (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4) ทรงลงพระปรมาภิไธยในสนธิสัญญาทางไมตรี การค้า และการเดินเรือ (Treaty of Amity, Commerce and Navigation with Prussia, in the name of the German Customs and Commercial Union) หรือสนธิสัญญาออยเลนบวร์ก อันเป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการระหว่างราชอาณาจักรสยามกับปรัสเซีย เมื่อ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2405 และเป็นจุดเริ่มต้นของความเป็นหุ้นส่วนระหว่างไทย-เยอรมนีเพื่อการเติบโตที่ยั่งยืน (Partners for Sustainable Growth) ของทั้ง 2 ประเทศ
160 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย-เยอรมนีได้นำมาซึ่งความสัมพันธ์อันดีระหว่างกันที่ส่งผลถึงการพัฒนาที่เป็นรูปธรรมของทั้ง 2 ประเทศในด้านต่าง ๆ อาทิ การค้าระหว่างไทยกับเยอรมนีในปี 2564 มีมูลค่ากว่า 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเยอรมนีได้นำเข้าสินค้าสำคัญจากไทย ได้แก่ ยานพาหนะและส่วนประกอบ เครื่องจักรกล เคมีภัณฑ์ อุปกรณ์ประมวลผลข้อมูลและอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์อาหาร และไทยก็ได้นำเข้าสินค้าจากเยอรมนี ได้แก่ ยานพาหนะและส่วนประกอบ อุปกรณ์ประมวลผลข้อมูล เครื่องจักรกล เคมีภัณฑ์ และโลหะต่าง ๆ การลงทุน โดยไทยได้ลงทุนในเยอรมนีในหลายสาขา อาทิ ธุรกิจห้างสรรพสินค้า และเยอรมนีได้ลงทุนในประเทศไทย กว่า 600 บริษัท อาทิ บริษัท BMW ซึ่งใช้ไทยเป็นฐานการผลิตมอเตอร์ไซค์ Big Bike และบริษัท Mercedes-Benz ซึ่งมีนโยบายใช้ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า และมีแผนที่จะรุกตลาดรถยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและพลังงานไฟฟ้าในไทยอย่างเต็มตัว มุ่งเน้นตลาดรถไฟฟ้า EV และ Plug-in Hybrid และปรับแผนการผลิตและแผนการตลาดให้สอดคล้องกับภาวะตลาดที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 นอกจากนี้ ไทยและเยอรมนียังมีความร่วมมือที่ใกล้ชิดอีกหลายด้าน อาทิ ในด้านการศึกษาที่ให้ความสำคัญมาอย่างต่อเนื่องคือความร่วมมือทางด้านอาชีวะศึกษา ในด้านธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เยอรมนีกับไทยก็มีความร่วมมือที่ใกล้ชิดในการป้องกันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และในด้านนวัตกรรม ไทยและเยอรมนีก็ได้มีความร่วมมืออย่างใกล้ชิด และกำลังจัดทำปฏิญญาร่วมแสดงเจตจำนงระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม กับกระทรวงศึกษาธิการและการวิจัยของเยอรมนี เป็นต้น
ในยามที่ประเทศไทยประสบปัญหาและความท้าทาย เยอรมนีก็เป็นมิตรประเทศที่ดีของไทยเสมอมา โดยล่าสุดเมื่อปีที่แล้วที่ประเทศไทยอยู่ในช่วงที่ต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดอย่างหนักของเชื้อไวรัสโควิด-19 เยอรมนีได้บริจาคยามูลค่ากว่า 150 ล้านบาท และวัคซีน AstraZeneca กว่า 3 แสนโดส
การปูรากฐานของความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างไทย-เยอรมนีไว้ตั้งแต่ 160 ปีที่แล้วของราชวงศ์จักรีได้นำไทยและเยอรมนี ผ่านหมุดหมายที่สำคัญและท้าทายมาหลายต่อหลายครั้ง อันก่อให้เกิดประโยชน์สุขให้แก่ประชาชนชาวไทยและชาวเยอรมันมาจนถึงปัจจุบันและจะเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะนำไปสู่ความเป็นหุ้นส่วนระหว่างไทย-เยอรมนีเพื่อการเติบโตที่ยั่งยืน (Partners for Sustainable Growth) ต่อไป
* * * * * *