การจดทะเบียนสมรส
- จดทะเบียนสมรสตามกฎหมายไทยที่สถานเอกอัครราชทูตฯ
- การเปลี่ยนนามสกุลหลังสมรสและ/หรือคำนำหน้าชื่อหลังสมรส
- การจดทะเบียนใช้ชีวิตสมรสของบุคคลเพศเดียวกันตามกฎหมายเยอรมัน
จดทะเบียนสมรสตามกฎหมายไทยที่สถานเอกอัครราชทูตฯ
Download :คำร้องนิติกรณ์ขอจดทะเบียนสมรส (คลิกที่นี่)
สถานเอกอัครราชทูตฯ ไม่รับจดทะเบียนสมรสระหว่างคนสัญชาติไทยกับคนสัญชาติเยอรมัน รับจดทะเบียนสมรสเฉพาะระหว่างคนสัญชาติไทยกับคนสัญชาติไทย หรือระหว่างคนสัญชาติไทยกับคนสัญชาติอื่นๆ เท่านั้น
ผู้ยื่นคำร้องทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง ต้องยื่นเอกสารเหมือนกัน ดังนี้
- หนังสือรับรองความเป็นโสดตัวจริง ถ้าเคยแต่งเคยหย่ามาก่อนต้องมีหนังสือรับรองความเป็นโสดหลังหย่า หรือถ้าคู่สมรสเสียชีวิตต้องมีหนังสือรับรองความเป็นโสดว่าหลังคู่สมรสเสียชีวิตแล้วไม่ได้แต่งงานอีก หนังสือรับรองความเป็นโสดนี้ต้องมีอายุไม่เกิน 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่ออก
- ในกรณีหย่ามาก่อน ให้ยื่นสำเนาใบสำคัญการหย่าหรือคำพิพากษาหย่าด้วย 1 ชุด
- ในกรณีที่คู่สมรสเสียชีวิต ให้ยื่นสำเนามรณบัตรด้วย 1 ชุด
- สำเนาหนังสือเดินทาง 1 ชุด
- สำเนาทะเบียนบ้านไทย หรือ บัตรประจำตัวประชาชน 1 ชุด
- สำเนาใบแสดงที่อยู่ในเยอรมนี (Meldebestätigung) 1 ชุด
- เอกสารที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ แล้วแต่กรณี เช่น ใบสำคัญการเปลี่ยนชื่อหรือนามสกุล เป็นต้น
หลังจากที่เจ้าหน้าที่ได้ตรวจเอกสารเรียบร้อยแล้วและไม่มีข้อขัดข้องประการใด เจ้าหน้าที่จะนัดหมายให้ท่านเดินทางไปจดทะเบียนสมรสที่สถานเอกอัครราชทูตฯ หากท่านไม่มีหนังสือรับรองความเป็นโสด ท่านสามารถเดินทางไปยื่นคำร้องมอบอำนาจที่สถานเอกอัครราชทูตฯ หรือ สถานกงสุลใหญ่ ฯ เพื่อให้ญาติไปขอหนังสือรับรองความเป็นโสดที่สำนักงานเขต หรือที่ว่าการอำเภอได้และดูข้อมูลการใช้นามสกุลหลังสมรสตามกฎหมายไทยใน “พระราชบัญญัติชื่อบุคคล (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2548” เพื่อตัดสินใจเลือกใช้นามสกุลหลังสมรสตามที่กฎหมายไทยกำหนดไว้
- ถ้าท่านเคยสมรส หรือหย่า ตามกฎหมายเยอรมัน หรือตามกฎหมายไทยที่สถานเอกอัครราชทูต หรือสถานกงสุลใหญ่ ต้องแจ้งให้สำนักงานเขต หรือที่ว่าการอำเภอที่เมืองไทยทราบด้วย เพื่อไปยื่นขอจดทะเบียน คร. 22 ที่สำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอที่ตนมีถิ่นที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน และเพื่อแก้ไขนามสกุลและคำนำหน้านามให้ถูกต้องตามสถานภาพการสมรสของท่าน
- ถ้าเคยสมรสและหย่าตามกฎหมายเยอรมัน
- ขอทะเบียนสมรส* ที่เป็น international Heiraturkunde จาก standes Amt ที่ตนได้ทำการสมรส และนำไปรับรองการที่ เรียกว่า การทำ legalization หรือ Legalisierung ที่ Regierungspräsidium*
- นำทะเบียนสมรสที่ได้รับการรับรองแล้ว พร้อมคำพิพากษาหย่าไปแปลเป็นภาษาไทยโดยล่ามที่ได้รับอนุญาตจากศาล
- นำเอกสารดังกล่าวมารับรองที่สถานเอกอัครราชทูตฯ สามารถส่งทางไปรษณีย์ได้ที่
Royal Thai Embassy,
Lepsiusstrasse 64/66,
12163 Berlin
หมายเลขบัญชีสำหรับการโอนค่าธรรมเนียมคือ
Royal Thai Embassy
Deutsche Bank
Kontonummer 419205000700
BLZ 10070000 - นำเอกสารไปทำการรับรองลายมือชื่อกงสุลของสถานเอกอัครราชทูตฯ ที่กรมการกงสุล (ถนนแจ้งวัฒนะ)
- ไปยื่นขอทำ คร.22 ที่สำนักงานเขต/ที่ว่าการอำเภอ ขอแก้ไขชื่อและคำนำหน้าในทำเบียนราษฎรให้ถูกต้องตามสถานภาพสมรสปัจจุบัน
- ถ้าเคยสมรสและหย่าตามกฎหมายเยอรมัน
* หากท่านเป็นนางสาว ท่านควรจะเปลี่ยนคำนำหน้านามเป็น “นาง” ภายหลังการสมรส เพื่อให้เจ้าที่ทางการเยอรมนีจะได้เข้าใจถูกต้อง และไม่เกิดปัญหาขึ้นในภายหลัง
* หากท่านไม่สามารถไปดำเนินการตามข้อ 4 และ 5 ด้วยตนเองได้ ท่านสามารถมอบอำนาจให้ผู้อื่น (ญาติ หรือเพื่อน) ไปดำเนินการแทนได้ กรุณาตรวจสอบข้อมูลเพิ่มได้ในส่วนหนังสือมอบอำนาจ
-
- ถ้าเคยสมรสและหย่าตามกฎหมายไทยที่สถานเอกอัครราชทูตหรือสถานกงสุลไทยในเยอรมนี ให้ใช้ทะเบียนสมรสและใบสำคัญการหย่าของไทยยื่นประกอบการทำหนังสือมอบอำนาจ
- ถ้าคู่สมรสถึงแก่กรรม และประสงค์จะทำการสมรสใหม่ ต้องขอใบรับรองความเป็นโสดก่อนทำการสมรส ในกรณีที่คู่สมรสเป็นชาวเยอรมัน และท่านไม่เคยแจ้งการแต่งงานต่อทางการไทย ท่านต้องแจ้งโดยนำทะเบียนสมรสและมรณบัตรไปรับรองที่ Regierungspräsidium แล้วนำไปแปลเป็นภาษาไทยโดยล่ามที่ได้รับอนุญาตจากศาล (รายละเอียดเอกสารที่ต้องใช้เพิ่มเติม ดูที่คำร้องขอทำหนังสือมอบอำนาจ)
- Regierungspräsidium เนื่องจากหน่วยงานที่มีสิทธิรับรองเอกสารของประเทศเยอรมนีมีชื่อเรียกแตกต่างกัน ดังนั้น หากท่านไม่ทราบว่าจะนำทะเบียนสมรสไปทำ Legalisierung ที่ไหน ให้สอบถามสำนักทะเบียนที่ออกเอกสารให้ท่าน หรือสอบถามหน่วยงานปกครองของเมืองที่ท่านพำนักอยู่ (Stadtverwaltung)
การเปลี่ยนนามสกุลหลังสมรสและ/หรือคำนำหน้าชื่อหลังสมรส
Download :คำร้องเปลี่ยนนามสกุลและ/หรือคำนำหน้าชื่อหลังสมรส (คลิกที่นี่)
หญิงไทยสามารถยื่นคำร้องขอเปลี่ยนฐานะทางครอบครัวหลังการสมรส เช่น โดยการเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อจาก “นางสาว” เป็น “นาง” และ/หรือขอเปลี่ยนนามสกุลหลังการสมรสได้ดังนี้
ก. การแจ้งเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อและนามสกุลหลังการสมรสชั่วคราวในหนังสือเดินทาง
การแจ้งเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อและ/หรือนามสกุลหลังสมรสชั่วคราวทำได้แต่ในหนังสือเดินทางรูปแบบเก่าเท่านั้น ในหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ (อี-พาสปอร์ต) ไม่สามารถขอแจ้งเปลี่ยนได้แต่อย่างใด
- นำใบสำคัญการสมรสเยอรมัน (Heiratsurkunde) หรือ สำเนาคัดจากทะเบียนการสมรสแบบหลายภาษา (internationaler Auszug aus dem Heiratseintrag) ไปรับรองที่หน่วยงานราชการเยอรมันที่เกี่ยวข้องในแต่ละรัฐ (ดูรายละเอียดการรับรองเอกสารที่ “หน่วยงานราชการเยอรมันสำหรับการรับรองเอกสารราชการเยอรมัน“)
และหากท่านจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายของประเทศอื่น เช่น เดนมาร์ก ต้องนำทะเบียนสมรสดังกล่าว ไปรับรองที่กระทรวงต่างประเทศของเดนมาร์ก และที่สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโคเปนเฮเกน ตามลำดับ (ดูรายละเอียดการรับรองเอกสารที่ “การรับรองทะเบียนสมรสเดนมาร์ก“)
โปรดทราบ “บันทึกฐานะแห่งครอบครัว” (Familienbuch) และ “ใบรับรองการสมรส” (Bescheinigung über die Eheschließung) นำมาใช้เป็นหลักฐานแทนใบสำคัญการสมรสไม่ได้
- นำใบทะเบียนสมรสที่รับรองมาแล้ว (สำเนา 1 ชุด) มายื่นคำร้องขอเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อ และ/หรือ ขอเปลี่ยนนามสกุลที่สถานเอกอัครราชทูตฯ โดยยื่นเอกสารประกอบต่อไปนี้
- สำเนาทะเบียนบ้านไทย หรือ บัตรประจำตัวประชาชน 1 ชุด
- หนังสือเดินทางตัวจริง และสำเนาหนังสือเดินทาง 1 ชุด
- ซองเปล่าติดแสตมป์ 4 ยูโร (หากยื่นทางไปรษณีย์)
- ค่าธรรมเนียม 3 ยูโร (ส่งเป็นเงินสดเท่านั้น)
ข. การแจ้งบันทึกฐานะทางครอบครัวและเปลี่ยนนามสกุลในทะเบียนบ้านไทย
ตามกฎหมาย บุคคลสัญชาติไทยเมื่อสมรสหรือหย่าแล้วในต่างประเทศต้องแจ้งบันทึกฐานะแห่งครอบครัวหรือสำนักงานเขต/ที่ว่าการอำเภอที่ตนมีชื่ออยู่
- นำทะเบียนสมรสที่รับรองแล้วไปให้นักแปลภาษาไทยที่มีใบอนุญาตจากศาลเยอรมันแปลเป็นภาษาไทย และมอบสำเนาบัตรประชาชนหรือทะเบียนบ้านและสูติบัตรไทยให้ล่ามด้วย 1 ชุด เพื่อให้ล่ามแปลชื่อ-นามสกุลของท่านให้ตรงกับบัตรประจำตัวประชาชน ล่ามต้องเย็บคำแปลภาษาไทยและต้นฉบับภาษาเยอรมันเข้าด้วยกัน เป็น 1 ชุด พร้อมประทับตราและลงลายมือชื่อรับรองการแปลด้วย
- นำทะเบียนสมรสและคำแปล (เอกสารจากข้อ 1) มารับรองที่สถานเอกอัครราชทูตฯ (ค่ารับรองเอกสาร 30 ยูโร)
- นำทะเบียนสมรสและคำแปล (เอกสารจากข้อ 2) ที่รับรองมาจากสถานเอกอัครราชทูตฯ ไปรับรองครั้งสุดท้ายที่
กองสัญชาติและนิติกรณ์
กรมการกงสุล
กระทรวงการต่างประเทศ
ถนนแจ้งวัฒนะ
เขตหลักสี่
กรุงเทพ ฯ 10210
โทร. 02-575-1056-59,
แฟกซ์ 02-575-1054 - นำทะเบียนสมรสและคำแปลที่รับรองจากกระทรวงการต่างประเทศ (เอกสารจากข้อ 3) ไปแจ้งนายทะเบียนที่สำนักงานเขต/ที่ว่าการอำเภอในประเทศไทยที่ท่านมีชื่อในทะเบียนบ้าน เพื่อขอให้บันทึกฐานะแห่งครอบครัวหลังการสมรส (คร. 22) และขอเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อและ/หรือเปลี่ยนนามสกุลในทะเบียนบ้านภายหลังการสมรสตามสามีต่อไป หลังจากนั้นจึงนำทะเบียนบ้านไปติดต่อขอทำบัตรประจำตัวประชาชนใหม่ บัตรประจำตัวประชาชนนี้ ต้องไปทำด้วยตัวเองที่ประเทศไทยเท่านั้น
การจดทะเบียนใช้ชีวิตสมรสของบุคคลเพศเดียวกันตามกฎหมายเยอรมัน
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน ขอแจ้งให้ทราบว่า กฎหมายไทยไม่ยอมรับการจดทะเบียนใช้ชีวิตสมรสของบุคคลเพศเดียวกันตามกฎหมายเยอรมัน (Lebenspartnerschaft) แต่อย่างใด
บุคคลสัญชาติไทยที่ได้จดทะเบียนใช้ชีวิตสมรสของบุคคลเพศเดียวกันจึงไม่สามารถแจ้งการจดทะเบียนดังกล่าวต่อหน่วยงานราชการไทยได้เช่น ไม่สามารถมายื่นคำร้องขอเปลี่ยนนามสกุลตามคู่สมรสที่เป็นบุคคลเพศเดียวกันได้ สถานเอกอัครราชทูตฯ จึงขอแนะนำให้ท่านที่วางแผนจะจดทะเบียนใช้ชีวิตสมรสกับบุคคลเพศเดียวกันตามกฎหมายเยอรมันเลือกใช้นามสกุลเดิมของตนเป็น “นามสกุลหลังการจดทะเบียนใช้ชีวิตสมรสของบุคคลเพศเดียวกัน” เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาในการเปลี่ยนนามสกุล