การขอสละสัญชาติ
ผู้ที่จะยื่นคำร้องขอสละสัญชาติไทยได้ คือ คนสัญชาติไทยที่ได้รับการแปลงสัญชาติเป็นเยอรมันสมบูรณ์เรียบร้อยแล้ว โดยจะได้รับมอบ “หนังสือสำคัญการแปลงสัญชาติเป็นเยอรมัน (Einbürgerungsurkunde) จากหน่วยงานราชการเยอรมัน หากท่านได้รับ “หนังสือรับรองว่าจะได้รับการแปลงสัญชาติเป็นเยอรมัน” (Zusicherungsbescheinigung) ท่านยังไม่สามารถมายื่นคำร้องขอสละสัญชาติไทยได้ ท่านต้องรอจนกว่าจะได้รับการแปลงสัญชาติเป็นเยอรมันโดยสมบูรณ์ก่อน หลังจากนั้นจึงนำใบสำคัญการแปลงสัญชาติมายื่นประกอบคำร้องขอสละสัญชาติไทยได้
การสละสัญชาติเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับชีวิตของท่านเป็นสำคัญ เพราะจะส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตและสิทธิหน้าที่ต่าง ๆ ของท่าน เมื่อท่านเสียสัญชาติไทย ท่านย่อมสูญสิ้นและหมดสิทธิและหน้าที่ต่อประเทศไทย ในขณะเดียวกันท่านจักต้องเคารพและปฏิบัติต่อกฎหมายของประเทศเยอรมนีที่ท่านถือสัญชาติ ก่อนที่ท่านจะได้รับนัดหมายให้เดินทางมาสถานเอกอัครราชทูตฯ ท่านต้องส่งคำร้องขอสละสัญชาติไทยพร้อมเอกสารประกอบมายังสถานเอกอัครราชทูตฯ ก่อน
1. การยื่นคำร้องขอสละสัญชาติไทยแบบที่ 1 (ตามมาตรา 13 พ.ร.บ สัญชาติ พ.ศ. 2508)
สำหรับ: ชายหรือหญิงซึ่งได้แปลงสัญชาติตามคู่สมรส
มาตรา 13 ระบุว่า “หญิงซึ่งมีสัญชาติไทยและได้สมรสกับชาวต่างด้าวและอาจถือสัญชาติของสามีได้ตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติของสามี ถ้าประสงค์จะสละสัญชาติไทย ให้แสดงความจำนงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามแบบและวิธีการที่กำหนดในกฏกระทรวง” ในกรณีนี้ ถ้าได้ขาดจากการสมรสแล้วไม่ว่าด้วยเหตุใดๆ (จดทะเบียนหย่า ศาลสั่งให้หย่า คู่สมรสเสียชีวิต) ย่อมมีสิทธิขอกลับคืนสัญชาติไทยได้ ตามมาตรา 23 พ.ร.บ สัญชาติ พ.ศ. 2508 ทั้งนี้ หากท่านเปลี่ยนนามสกุลตามสามีในทะเบียนสมรสเยอรมันแต่ยังไม่ได้เปลี่ยนนามสกุลหลังการสมรสในทะเบียนราษฎร์ (กรณีที่ท่านเป็นผู้หญิง) ท่านต้องดำเนินการเปลี่ยนนามสกุลหลังสมรส ก่อนที่จะมายื่นคำร้องขอสละสัญชาติไทย
เอกสารที่ท่านต้องรวบรวมและส่งให้สถานเอกอัครราชทูตฯ ในกรณีนี้ มีดังนี้
- แบบ สช. 1
- ทะเบียนสมรสที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานราชการเยอรมันที่เกี่ยวข้องพร้อมคำแปลซึ่งรับรองที่สถานเอกอัครราชทูตหรือสถานกงสุลใหญ่ไทยแล้ว จำนวน 2 ชุด (ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ “รายชื่อหน่วยงานราชการเยอรมันสำหรับการรับรองเอกสารราชการเยอรมัน“)
- หนังสือสำคัญการแปลงสัญชาติที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานราชการเยอรมันที่เกี่ยวข้องพร้อมคำแปลซึ่งรับรองที่สถานเอกอัครราชทูตหรือสถานกงสุลใหญ่ไทยแล้ว จำนวน 2 ชุด (ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ “รายชื่อหน่วยงานราชการเยอรมันสำหรับการรับรองเอกสารราชการเยอรมัน “)
- สำเนาสูติบัตร (ใบเกิด) 2 ชุด
- สำเนาทะเบียนบ้านไทย 2 ชุด
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนไทย 2 ชุด
- สำเนาหนังสือสำคัญเปลี่ยนชื่อตัว (แบบ ช.3) (ถ้ามี)
- สำเนาหนังสือสำคัญเปลี่ยนชื่อสกุล หรือจดทะเบียนตั้งชื่อสกุล (แบบ ช.2 หรือแบบ ช.4)
- สำเนาหนังสือเดินทางไทยทุกหน้าที่มีตราประทับ 2 ชุด
- รูปถ่ายของผู้ร้องขนาด 4×6 ซ.ม. จำนวน 6 รูป (หน้าตรงแต่งกายสุภาพ)
- สำเนาหนังสือเดินทางสามี
- รูปถ่ายของสามีขนาด 4×6 ซ.ม. จำนวน 6 รูป (หน้าตรงแต่งกายสุภาพ)
- หลักฐานประจำตัวของพยานคนไทย 2 คน คือ สำเนาหนังสือเดินทางไทย หรือ สำเนาทะเบียนบ้าน หรือ สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนไทย 1 ชุด
ผู้ขอสามารถมายื่นคำร้องขอสละสัญชาติไทยพร้อมเอกสารประกอบด้วยตนเองหรือส่งเอกสารดังกล่าวมายังสถานเอกอัครราชทูตฯ ทางไปรษณีย์ หลังจากนั้น สถานเอกอัครราชทูตฯ จะติดต่อท่านทางโทรศัพท์เพื่อทำการนัดหมายสอบสวนการขอสละสัญชาติพร้อมสอบสวนพยาน ทั้งนี้ ในวันที่นัดหมาย ให้พยานคนไทยที่ยืนยันได้ว่าท่านเกิดที่เมืองไทยจริงและรู้จักสถานที่เกิดของท่าน 2 คนมาพร้อมกับท่าน
2. การยื่นคำร้องขอสละสัญชาติไทยแบบที่ 2 (ตามมาตรา 14 หรือ 15 ของ พ.ร.บ สัญชาติ พ.ศ. 2508)
สำหรับ:
- ผู้ซึ่งมีสัญชาติไทยเพราะเกิดในราชอาณาจักรไทยขณะที่บิดาเป็นคนต่างด้าวและอาจถือ สัญชาติของบิดาได้ตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติของบิดา (มาตรา 14)
- ผู้ซึ่งได้สัญชาติไทยโดยบิดาหรือมารดาขอแปลงสัญชาติเป็นไทยในขณะที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ (มาตรา 14)
- ผู้ซึ่งมีสัญชาติไทยเพราะเกิดในราชอาณาจักรไทยขณะที่บิดาเป็นคนต่างด้าวและอาจถือสัญชาติของบิดาได้แต่ไม่ได้แสดงความจำนงขอสละสัญชาติไทยภายในหนึ่งปี นับแต่วันที่มีอายุครบ ยี่สิบปีบริบูรณ์ (มาตรา 14)
- ผู้ซึ่งได้สัญชาติไทยโดยบิดาหรือมารดาขอแปลงสัญชาติเป็นไทยให้ในขณะที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ แต่ไม่ได้แสดงความจำนงขอสละสัญชาติไทยภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่มีอายุครบยี่สิบปีบริบูรณ์ (มาตรา 14)
- ผู้ซึ่งมีสัญชาติไทยและสัญชาติอื่น (มาตรา 15)
- ผู้ซึ่งมีสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ (มาตรา 15)
ในกรณีนี้ ผู้ซึ่งมีสัญชาติไทยและได้เสียสัญชาติไทยตามบิดาหรือมารดาขณะที่ตนยังไม่บรรลุนิติภาวะถ้าประสงค์จะกลับคืนสัญชาติไทยให้ยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามแบบและวิธีการที่กำหนดในกฏกระทรวง ภายในสองปีนับแต่วันที่บรรลุนิติภาวะตามมาตรา 24 พ.ร.บ สัญชาติ พ.ศ. 2508
เอกสารที่ท่านต้องรวบรวมและส่งให้สถานเอกอัครราชทูตฯ ในกรณีนี้ มีดังนี้
- แบบ สช. 2
- สำเนาสูติบัตร (ใบเกิด) 2 ชุด
- สำเนาทะเบียนบ้านไทย 2 ชุด
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนไทย 2 ชุด
- สำเนาหนังสือสำคัญเปลี่ยนชื่อตัว (แบบ ช.3)(ถ้ามี)
- สำเนาหนังสือสำคัญเปลี่ยนชื่อสกุล หรือจดทะเบียนตั้งชื่อสกุล (แบบ ช.2 หรือแบบ ช.4)
- สำเนาใบสำคัญทหาร (แบบ สด.9)
- หนังสือสำคัญการแปลงสัญชาติเป็นเยอรมันที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานราชการเยอรมันที่เกี่ยวข้องพร้อมคำแปลซึ่งรับรองที่สถานเอกอัครราชทูตหรือสถานกงสุลใหญ่ไทยแล้ว จำนวน 2 ชุด (ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ “รายชื่อหน่วยงานราชการเยอรมันสำหรับการรับรองเอกสารราชการเยอรมัน “)
- หลักฐานที่แสดงสัญชาติของบิดา หรือหลักฐานการแปลงสัญชาติเป็นไทยของบิดา
- สำเนาหนังสือเดินทางไทย 2 ชุด
- รูปถ่ายขนาด 4×6 ช.ม. ของผู้ร้อง 6 รูป (หน้าตรงแต่งกายสุภาพ)
- รูปถ่ายบิดามารดาผู้ขอขนาด 4×6 ช.ม. จำนวนคนละ 2 รูป (หน้าตรงแต่งกายสุภาพ)
- หลักฐานประจำตัวของพยานคนไทย 2 คน คือ สำเนาหนังสือเดินทางไทย หรือ สำเนาทะเบียนบ้าน หรือ สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนไทย 1 ชุด
ผู้ขอต้องมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ และสามารถมายื่นคำร้องขอสละสัญชาติไทยพร้อมเอกสารประกอบด้วยตนเองหรือส่งเอกสารดังกล่าวมายังสถานเอกอัครราชทูตฯ ทางไปรษณีย์ หลังจากนั้น สถานเอกอัครราชทูตฯ จะติดต่อท่านทางโทรศัพท์เพื่อทำการนัดหมายสอบสวนการขอสละสัญชาติพร้อมสอบสวนพยาน ทั้งนี้ ในวันที่นัดหมาย ให้พยานคนไทยที่ยืนยันได้ว่าท่านเกิดที่เมืองไทยจริงและรู้จักสถานที่เกิดของท่าน 2 คนมาพร้อมกับท่าน
3. การยื่นคำร้องขอสละสัญชาติไทยแบบที่ 3 (ตามมาตรา 22 ของ พ.ร.บ สัญชาติ พ.ศ. 2508)
สำหรับ: สามารถนำมาใช้ได้ในทุกกรณี
มาตรา 22 ระบุว่า ผู้ซึ่งมีสัญชาติไทยและได้แปลงสัญชาติเป็นคนต่างด้าว หรือ สละสัญชาติไทย หรือถูกถอนสัญชาติไทยย่อมเสียสัญชาติไทย
เอกสารที่ท่านต้องรวบรวมและส่งให้สถานเอกอัครราชทูตฯ ในกรณีนี้ มีดังนี้
- หนังสือสำคัญการแปลงสัญชาติที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานราชการเยอรมันที่เกี่ยวข้องพร้อมคำแปลซึ่งรับรองที่สถานเอกอัครราชทูตหรือสถานกงสุลใหญ่ไทยแล้ว จำนวน 2 ชุด (ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ “รายชื่อหน่วยงานราชการเยอรมันสำหรับการรับรองเอกสารราชการเยอรมัน “)
- สำเนาทะเบียนบ้านไทย
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนไทย
- สำเนาหนังสือเดินทางไทย
- รูปถ่าย 6 ใบ
4. การยับยั้งการขอสละสัญชาติ
ท่านสามารถขอยับยั้งการขอสละสัญชาติหากการขอสละสัญชาติของท่านยังอยู่ในช่วงพิจารณาและท่านยังไม่เสียสัญชาติไทย โดยส่งแบบฟอร์มขอยับยั้งการขอสละสัญชาติ กรอกเสร็จแล้วกรุณาส่งมาที่สถานเอกอัครราชทูตเพื่อการดำเนินการต่อไป
สิ่งที่ควรรู้สำหรับการขอสละสัญชาติทุกกรณี
- เจ้าหน้าที่อาจเรียกเอกสารเพิ่มเติมได้แล้วแต่กรณี
- การดำเนินการสละสัญชาติไทยจะใช้เวลาประมาณ 3 ปี หรือนานกว่านี้ เวลานับตั้งแต่วันที่คำร้องของท่านส่งไปถึงเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบเรื่องการขอสละสัญชาติไทยที่กระทรวงมหาดไทย (สำนักงานตำรวจแห่งชาติที่กรุงเทพมหานคร)
- ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ (เช่น ค่าธรรมเนียมยื่นคำร้อง ค่าธรรมเนียมการรับรองเอกสาร เป็นต้น) ท่านจะทราบและชำระเมื่อวันมาเซ็นต์ชื่อในคำร้อง
- การยื่นคำร้องขอสละสัญชาติไทยเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาก ท่านต้องให้เวลาในการเขียนคำร้องและเตรียมเอกสาร ถ้าคำร้องของท่านไม่สมบูรณ์ เอกสารไม่พร้อม เจ้าหน้าที่จะไม่สามารถดำเนินการการสละสัญชาติไทยของท่านได้และจะทำให้การดำเนินการล่าช้ามาก
- หน่วยงานราชการไทยที่รับผิดชอบเรื่องการสละสัญชาติไทย คือ กองบังคับการตำรวจสันติบาล 2 ในกรุงเทพมหานคร ดังนั้น หากผู้ยื่นคำร้องต้องการดำเนินเรื่องอย่างเร็ว สามารถไปยื่นคำร้องขอสละสัญชาติไทยที่ กองบังคับการตำรวจสันติบาล 2 ได้ โดยยื่นเอกสารตามรายละเอียดข้างต้น ที่
กองบังคับการตำรวจสันติบาล 2
ซอย รามอินทรา 21
แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร 10220 ประเทศไทย
โทรศัพท์ +66-2-551-2506-7
แฟกซ์ +66-2-551-2508